สถิติผู้เยี่ยมชม

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterToday19
mod_vvisit_counterYesterday46
mod_vvisit_counterThis week188
mod_vvisit_counterLast week390
mod_vvisit_counterThis month578
mod_vvisit_counterLast month1212
mod_vvisit_counterAll days548161

Online (20 minutes ago): 1
Your IP: 18.97.14.84
,
Today: ธ.ค. ๑๒, ๒๕๖๗
คัมภีร์พระเวท PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
วันอังคารที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เวลา ๐๗:%M น.

คัมภีร์พระเวท

       ประวัติศาสตร์การเริ่มต้นของพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดีย คือดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของลัทธิศาสนาที่สำคัญมากมาย อาทิ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งภายหลังวิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ศาสนาเชน เป็นต้น ชาวอินเดีย เป็นชาติที่มีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาอย่างแรงกล้า มีลัทธิพิธีบูชาสังเวยพระเป็นเจ้าในศาสนา หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่แปลกน่าสนใจอย่างมากมาย

 

 

ms2174

 


          ชาวอินเดียยอมรับกันอย่างมากว่าลัทธิความเชื่อในศาสนาเป็นปัจจัยในการครองชีวิตความเป็นอยู่และในจิตใจของตนเชื่อว่าศาสนาคือโครงสร้างที่สำคัญของสังคมอินเดียจึงเกิดการ ปกครองที่มีระเบียบแบบแผน ยังมีความหมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนาจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตลอดเวลา ลัทธิศาสนาในอินเดียยุคโบราณประกอบด้วย ศาสนาหลัก และศาสนาย่อยลงมาแยกเป็นลัทธิสาขาต่าง ๆ ออกไปอีกมากมายประวัติศาสตร์อินเดียสมัยโบราณกล่าวถึง ศาสนาพราหมณ์ว่าเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวอินเดียที่ประกอบไปด้วยการเคารพบูชาพระเป็นเจ้าต่าง ๆ วิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ มีวิวัฒนาการหรือพัฒนาการมาจากการบูชาธรรมชาติ นับถือผีสางเทวดา ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมสุด (ช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอินเดีย) ความเชื่อนี้เรียกว่า ลัทธิบูชาธรรมชาติ มีการบูชาต้นไม้ สัตว์ รูปเคารพที่เป็นมนุษย์ “สมัยนี้เรียกสมัยพระเวท (คัมภีร์พระเวท)” ซึ่งศาสนาที่กำเนิดขึ้นมาในช่วงนี้เรียก ศาสนาพราหมณ์ในสมัยพระเวท คัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ที่ต่างก็รู้จักเป็นอย่างดีนั่นคือ คัมภีร์พระเวท คำว่า “พระเวท (Vedas)” หมายถึง ความรู้ศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์พระเวทนั้นถือเป็นแหล่งอันสูงสุดในการพิจารณาตัดสินปัญหาในทางปรัชญาและศาสนา ชาวอารยันได้รวบรวมบทสวดอ้อนวอนเทวะที่ใช้กันมาในวงศ์ตระกูลขึ้นเป็นหมวดหมู่ คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า “เวท” หรือ “วิทยา” ได้แก่ความรู้ซึ่งถือเป็น ศรุติ ๓ หมายถึง วิทยาที่ได้รับฟังมาจากเทวะ คือ ความรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงให้ปรากฏ โดยบรรดา ฤษี รับการถ่ายทอดมาโดยตรง แล้วนำมาเผยแผ่ด้วยการท่องจำแบบปากเปล่าในเฉพาะหมู่ของพวกพราหมณ์ ความรู้เช่นนี้จะเรียนกันเฉพาะหมู่ของบุคคลที่เลือกสรรแล้ว คัมภีร์พระเวทนี้ก็ยังมีแยกย่อยลงไปอีกเป็น ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อาถรรพ์เวท การบูชาพระเป็นเจ้าในสมัยพระเวท จากคัมภีร์ต่างๆ ที่ค้นพบกล่าวไว้ดังนี้ คัมภีร์ฤคเวท เชื่อว่าเป็นหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียกล่าวถึงบทสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า และลักษณะการบูชาสังเวยพระเป็นเจ้าด้วยสิ่งต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ พระเป็นเจ้าในคัมภีร์ฤคเวท อาทิ พระอัคนี หรือไฟ, พระวรุณ เทพแห่งท้องฟ้า, พระอินทร์ พระวายุ เทพแห่งลม, พระสุริยะ เทพแห่งตะวัน การบูชา พระเป็นเจ้า ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงการบูชาไฟ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เด่นที่สุด เพื่อขอพรจากพระเป็นเจ้าให้ทรงมอบความสุขและความโชคดีให้แก่ผู้ที่บูชานั้น เครื่องสังเวยที่ใช้ในการบูชาไฟของพราหมณ์ คือ บูชาด้วยอาหารที่หุงต้มแล้ว โดยจัดทำภายในบ้านประกอบด้วย น้ำนม เมล็ดข้าว เนยแข็ง เหล้าโสม (กลั่นจากต้นไม้) ดอกไม้ เป็นต้น เมื่อทำพิธีกรรมให้นำอาหารเหล่านี้ใส่ลงไปในกองไฟ พร้อมสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า บูชาสังเวยไฟด้วยชีวิต เครื่องสังเวยชีวิต เป็นต้นว่าสัตว์ ๔ เท้า หรือสัตว์ปีก รวมถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ในช่วงต้นคริสต์ศักราช เรียกในนามศาสนาฮินดู สัตว์ที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น แพะ แกะ ควาย ไก่ นก เป็นต้น โดยการนำเลือดสด ๆ ใส่ลงไปในกองไฟที่กำลังลุกไหม้ บูชาสังเวยด้วยน้ำโสม (เหล้าโสมที่กลั่นจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง) การเตรียมสถานที่ทำพิธี พระฮินดูผู้ทำพิธีจะพิจารณาเลือกสถานที่ ๆ จะก่อไฟศักดิ์สิทธิ์ (เรียกว่า กองกูณฑ์) โดยจะใช้มีดปลายแหลมหรือไม้ ทำการขีดลงบนพื้นดิน ๓ ขีด เพื่อเลือกสถานที่หลังจากนั้นก็จะขุดดินบริเวณนั้นให้เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสตกแต่งผิวรอบ ๆ ให้เรียบจากนั้นก็จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาเทราดในบริเวณนั้นแล้วรอจนแห้งสนิทก่อนที่จะเริ่มพิธีกรรมบูชาไฟ ในอินเดียเวลามีการทำพิธีกรรมบูชาไฟ เครื่องสังเวยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ หญ้าคา เชื่อว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับพระเป็นเจ้า จึงต้องนำเอาหญ้าคามาเป็นเครื่องสังเวยด้วย หญ้าคา ในทางศาสนาพราหมณ์มีความเกี่ยวข้องกันคือ อาสนะที่ประทับของพระศิวะบนเขาไกรลาสทำด้วยสิ่งนี้ ชาวฮินดูลัทธิไศวะนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด จะนำหญ้าคามาเพื่อเป็นเครื่องบูชา
คัมภีร์สมัยพระเวทสมัยพระเวทสันนิษฐานอายุอยู่ระหว่าง ๒,๐๐๐ – ๕,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราชได้จัดแบ่งคัมภีร์สำคัญต่าง ๆ เป็น ๓ คัมภีร์ เรียก คัมภีร์ไตรเพท ประกอบด้วย
๑.คัมภีร์ฤคเวท เชื่อว่าเป็นหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย กล่าวถึงบทสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า และลักษณะการบูชาสังเวยพระเป็นเจ้าด้วยสิ่งต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ บรรจุเรื่องราวสภาพสังคม และการใช้ชีวิตของคนในสมัยนั้น กล่าวกันไว้ว่าคัมภีร์นี้ได้ออกจากพระโอษฐ์ของพระพรหม และเหล่าฤาษีได้นำมาสั่งสอนมวลมนุษย์อีกที คัมภีร์นี้เป็นบทสรรเสริญบนบานต่อเทพเจ้าเพื่อขอให้ช่วยกำจัดภัยทั้งหลายทั้งมวล นับเป็นคัมภีร์เล่มแรกในวรรณคดีพระเวท เป็นตำราทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยบทสวดที่วางท่วงทำนองในการสวดไว้อย่างตายตัว กล่าวถึงบทสรรเสริญคุณ อำนาจแห่งเทวะ และประวัติการสร้างโลก รวมถึงหน้าที่ของพระพรหมผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง ซึ่งจะใช้ในพิธีการบวงสรวงเทพเจ้าต่าง ๆ ของชาวอารยัน ตามประเพณีของฮินดูแล้ว การแบ่งหมวดหมู่ของคัมภีร์พระเวทนี้ วยาส ( ผู้แต่งมหากาพย์ มหาภารตะ ) เป็นผู้ทำขึ้นโดยรับคำสั่งจากพระพรหม การจัดรวบรวมบทสวดในคัมภีร์ฤคเวทนี้ เรียกว่า ฤคเวทสังหิตา


๒. คัมภีร์ยชุรเวท เป็นคัมภีร์ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์ กล่าวถึงลักษณะและความสำคัญของพิธีกรรมบูชาไฟ และพิธีกรรมต่าง ๆ แสดงถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งการบูชาและการบวงสรวง เป็นคัมภีร์ที่พวกพราหมณ์อัธวรรยุ ๔ ใช้ในการทำพิธีบูชา รจนาขึ้นราว ๑-๒ ศตวรรษหลังจากฤคเวท โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาจากฤคเวท นำมาดัดแปลงและเรียบเรียงขึ้นใหม่ อีกส่วนเป็นบทร้องกรองที่ใช้ในพิธีบูชาโดยเฉพาะ ยชุรเวทนี้แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ


๒.๑ ไตติริยะสังหิตา หรือ “พระกฤษณะ” หรือ “ยชุรเวทดำ” เป็นยชุรเวท เดิมที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยก
๒.๒ วาชเนยิสังหิตา หรือ “ศุคล” หรือ “ยชุรเวทขาว” คือยชุรเวทที่แบ่ง เฉพาะโศลกไว้พวกหนึ่ง และร้อยแก้วไว้อีกพวกหนึ่งในการทำพิธีบูชายัญนั้น พิธีที่สำคัญคือ ทศปุรณมาส เป็นการกระทำพิธีในคืนพระจันทร์เต็มดวง และ อัศวเมธ คือการทำพิธีบูชายัญด้วยการถวายม้า


๓. คัมภีร์สามเวท ประกอบด้วยโคลงบทสวด สำหรับพราหมณ์ใช้สวดทำพิธีสังเวยบูชาเทพเจ้า และการบูชาด้วยน้ำโสมเนื้อหาส่วนใหญ่ของสามเวทนี้จะได้มาจากฤคเวท นำมาร้อยกรองเป็นบทสวด เป็นเนื้อหาในส่วนที่ใช้ในการแสดงกลศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ รวมถึงสังคีตอันเป็นบทสวดสรรเสริญคุณและฤทธิ์ของเทวะ ใช้เฉพาะในหมู่ของพวกพราหมณ์อุทคาตรี ๔ สำหรับการทำพิธีบูชาน้ำโสม สังหิตาของสามเวทนี้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ “อรชิต” มีบทร้อยกรอง ๕๘๕ บท และ“อุตตรารชิต” มีบทร้อยกรอง ๑,๒๒๕ บท คัมภีร์พระเวทสามเล่มแรกนี้ หมายถึง ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท นับเป็นสามเล่มหลักรวมเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท


๔.คัมภีร์อาถรรพ์เวท เป็นพระเวทที่สี่ซึ่งเขียนขึ้นมาในภายหลัง ประกอบด้วยบทสวดคาถาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เป็นพระเวทชนิดพิเศษเรียกว่า “ฉันท์” อันมิได้ถูกจัดอยู่ในไตรเพทเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีบูชายัญแต่อย่างใด อาถรรพ์เวทนี้ถือว่าเป็นความรู้ที่ปรากฏแก่พวกพราหมณ์อัธวรรยุ พระเวทตอนนี้มีความเกี่ยวของกับไสยศาสตร์บทสวดต่าง ๆ อันมีจุดประสงค์เพื่อขจัดโรคและภัยพิบัติ ทั้งกล่าวรวมถึงหน้าที่ของกษัตริย์และสัจธรรมขั้นสูง คัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์นั้นจะแบ่งออกเป็น ๒ ตอนใหญ่ ๆ คือ มันตระ และ พราหมณะ “มันตระ” หรือ “มนต์” จะรวบรวมบทสวดที่กล่าวถึงเทพเจ้าแห่งปัญญา สุขภาพ ความมั่งคั่ง และความมีอายุยืน รวมถึงบทสวดอ้อนวอนเพื่อขอทาสบริวาร สัตว์เลี้ยง บุตร ชัยชนะในสงคราม หรือแม้กระทั่งการของให้ยกเลิกซึ่งบาปทั้งปวงอันได้กระทำลงไป บางทีก็เรียกว่า สังหิตา หมายถึง บทสวดหรือมนต์ที่ใช้ในการทำพิธีบูชานั่นเอง ส่วนขยายเนื้อหาของคัมภีร์อาถรรพ์เป็นส่วนว่าด้วยมนต์พระเวทเกี่ยวกับอาถรรพ์ต่าง ๆ เช่น
- การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
- การกำจัดภัยร้ายจาก พยาธิภัย หรือมรณะภัย
- การใช้เสกสิ่งต่าง ๆ เข้าในตัวหรือฝังรูปฝังรอย หรือเสน่ห์ยาแฝด เป็นต้น คัมภีร์ฤคเวท มันตระ จะเรียกว่า “ฤค” อันเป็นร้อยกรองที่มีใจความในการสรรญเสริญพระเจ้า เป็นท่วงทำนองเพื่อการอ่านออกเสียงในการทำพิธีบรวงสรวง คัมภีร์ยชุรเวท มันตระ เรียกว่า “ยชุส” เป็นร้อยแก้ว ที่ใช้สวดออกเสียงค่อย ๆ ในการประกอบศาสนพิธี คัมภีร์สามเวท มันตระ จะเรียกว่า “สามัน” อันเป็นบทสวดมีทำนอง แต่ใช้เฉพาะในพิธีบูชาน้ำโสม ส่วนใน อาถรรพ์เวทนั้น มันตระ ไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ นอกเหนือจากคัมภีร์สำคัญ ๔ คัมภีร์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว เหล่าพราหมณ์ได้ช่วยกันสร้างพระเวทขึ้นอีก ๔ ส่วน เรียก อุปเวท คือตำราต่าง ๆ ในส่วนที่เฉพาะเจาะจงไปในแต่ละสาขา ประกอบด้วย


๑. อายุรเวท คือตำราแพทย์ศาสตร์ ว่าด้วยการใช้สมุนไพร และเวทมนต์ในการรักษาโรค โดยมีเทวดาประจำ คือ ฤาษีทั้ง ๗ (ไม่ปรากฏนาม)
๒. คานธรรพ์เวท คือตำราดนตรี นาฏศิลป์ หรือการฟ้อนรำ และการขับร้องโดยมีเทวดาประจำ คือ พระนารทฤาษี หรือฤาษีนารอท หรือพระปรคนธรรพ
๓. ธนุรเวท คือตำราวิชายิงธนู และการใช้อาวุธในสงคราม เรียก ยุทธศาสตร์ เทวดาประจำ คือ พระขันทกุมาร
๔. สถาปัตยเวท คือตำราวิชาก่อสร้าง (ปัจจุบันเรียกสถาปัตยกรรม) เทวดาประจำ คือ พระวิษณุกรรม


จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการบูชาเทพเทวดาผู้ดูแลตำราคัมภีร์ทั้ง ๔ นี้โดยตลอด ดังจะเห็นจากการทำพิธีไหว้ครูของศิลปินแขนงต่าง ๆ พราหมณะ เป็นส่วนที่อธิบายถึงวิธีและรายละเอียดในการจัดศาสนพิธิที่ต้องสวดมันตระ และอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับมันตระ คัมภีร์พระเวทเฉพาะตอนของ พราหมณะ นี้ ยังสามารถแยกออกเป็นแขนงสำคัญได้อีก ๒ แขนงคือ อารัณยกะ และ อุปนิษัท อารัณยกะ แปลว่า บทเรียนผู้อยู่ในป่า เป็นบทคำสอนการดำเนินชีวิตของพราหมณ์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งออกจากป่าบำเพ็ญเพื่อบรรลุโมษะ การปฏิบัติตามบทเรียนนั้นๆ เรียกว่า การเข้าสู่อาศรม คัมภีร์อารัณยกะนี้มีลักษณะการพัฒนาทางจิตอันก้าวไปได้ไกลมากในพัฒนาการของแนวความคิดทางศาสนาของชาวอินดู อาศรมแห่งการบำเพ็ญเพียร ประพฤติตนให้เป็นพราหมณ์ ดำเนินความตามคัมภีร์อารัณยกะแห่งพราหมณะมีอยู่ “อาศรม ๔” หรือ ๔ ลำดับแห่งการบำเพ็ญตน คือ


๑. พรหมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
๒. คฤหัสถ์ แปลว่า ผู้ครองเรือน
๓. วนปรัสถ์ แปลว่า ผู้อยู่ป่า
๔. สันยาสี แปลว่า ผู้แสวงหาธรรม อาศรมทั้ง ๔ ( Stages of Life ) นับเป็นแนวทางปฏิบัติอันเป็นต้นรากแห่งชีวิตของพราหมณ์ ถือว่าเป็นธรรมประจำตัวของชาวฮินดู ผู้มุ่งต่อโมษะที่เป็นไปในเบื้องหน้า อุปนิษัท แต่งขึ้นโดยยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก แปลตามตัวพยัญชนะว่า “เข้าไปนั่งลง” ตามความหมายว่า บทเรียน ซึ่งได้แก่บทเรียนอันเป็นส่วนลึกลับ ( Esoteric Doctrine ) เป็นปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องดวงวิญญาณอันเนื่องด้วยพรหม นับเป็นคัมภีร์สำคัญหมวดหนึ่งของชาวฮินดู เป็นอรรถาธิบายความของคัมภีร์พระเวท (ส่วนสุดท้ายคือ เวทานตะ) ๕ แต่งเป็นบทร้อยกรองที่มีความลึกซึ้งทางจิตใจ อธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาทางศาสนาและปรัชญามีจำนวนมากกว่า ๒๐๐ บท แต่มีเพียง ๑๒ บท ที่ยอมรับกันว่าเป็นอุปนิษัทหลัก เนื้อหาในคัมภีร์อุปนิษัทนี้นับเป็นฐากฐานให้กับระบบปรัชญาและศาสนาของชาวฮินดู และถือเป็นคัมภีร์สุดท้ายแห่งการศึกษาเล่าเรียนเพื่อถึงที่สุด จึงนับเป็น เวทานตะ อันหมายถึง ที่สุดแห่งพระเวท ในสมัยต่อมา มีคัมภีร์ใหม่เกิดขึ้นอีกเล่มหนึ่งคือ “อิติหาส” หรือบางทีก็เรียกว่าเป็น ”พระเวทที่ ๕” ประกอบด้วยบทร้อยกรอง เรื่องราวเก่าแก่ และปุราณะ นอกจากนี้ยังมีพระเวทชั้นสองที่เรียกว่า “อุปเวท” เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี ยารักษาโรค ฯลฯ

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๕:%M น.
 
Secured by Siteground Web Hosting